อยากทำความสะอาด สระว่ายน้ำ เองต้องทำอย่างไร?
สำหรับการมี สระว่ายน้ำ นอกจากที่เราจะเลือกอุปกรณ์ในสระว่ายน้ำให้สามารถใช้งานร่วมกันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ คือการทำความสะอาดสระว่ายน้ำ เพื่อให้สระว่ายน้ำของเราสะอาด น่าลงเล่นอยู่เสมอ โดยในการทำความสะอาดสระว่ายน้ำก็มีความแตกต่างกันออกไปตามประเภทของสระว่ายน้ำอีกด้วย
สระว่ายน้ำ มีกี่ระบบ? ดูแลต่างกันมั้ย?
รู้หรือไม่ ? สระว่ายน้ำ แต่ละระบบมีการดูแลทำความสะอาดที่แตกต่างกัน เพราะระบบสระว่ายน้ำที่แตกต่างก็จะมีการใช้อุปกรณ์ภายในระบบที่ไม่เหมือนกัน การดูแลรักษาก็ย่อมแต่กต่างกันด้วย โดยเจ้าของสระว่ายน้ำจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาทั้งเรื่องของการใช้งานอุปกรณ์ภายในสระ และการดูแลรักษาสระว่ายน้ำของตนเองเพื่อให้สระว่ายน้ำสะอาดและน่าลงเล่นอยู่เสมอ
• Overflow
สระว่ายน้ำ ในระบบนี้จะแลดูสวยงามกว่าระบบ สกิมเมอร์ เพราะเมื่อฝุ่นละอองสัมผัสผิวน้ำแล้ว ก็จะล้นออกไป ขั้นตอนของสระระบบนี้คือน้ำจะไหลลงรางระบายน้ำรอบสระ ไปสู่บ่อพักน้ำ ปั๊มจะทำหน้าที่สูบน้ำ สู่เครื่องกรอง เพื่อขจัดความสกปรกหมุนเวียนกันไปซึ่งจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่เหมาะสมเพื่อให้น้ำผ่านการหมุนเวียน และมีการกรองน้ำที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้น้ำในระบบใสสะอาด อยู่เสมอ และต้องใช้เคมี สำหรับการดูแล เพื่อไม่ให้เกิดตะไคร่น้ำ และ มีตะกอน จึงจำเป็นจะต้องมีผู้รู้ หรือศึกษาคู่มือในการบำรุงรักษาน้ำ ให้ใสสะอาดอยู่เสมอ
• Skimmer
ระดับน้ำในสระต้องไม่ต่ำกว่าระดับสกิมเมอร์ สำหรับสระน้ำระบบสกิมเมอร์ ที่มีช่องกรองเศษสกปรกบนผิวน้ำ และคอยดูดน้ำให้ไหลวนภายในสระต้องหมั่นเช็กระดับน้ำในสระให้ไม่ต่ำกว่าระดับสกิมเมอร์เพราะหากระดับน้ำต่ำกว่าสกิมเมอร์ มีความเป็นไปได้สูงว่าปั๊มน้ำอาจชำรุดเสียหาย จึงไม่สามารถดูดน้ำเข้าสระได้ตามปกติ
• สระว่ายน้ำระบบคลอรีน
สระว่ายน้ำที่เป็นระบบคลอรีนจะต้องมีการควบคุมการเติมคลอรีนให้เหมาะสม และต้องคอยตรวจสอบค่าความสุมดุลของสระว่ายน้ำอยู่เสมอ เพราะถ้าหากเติมคลอรีนมากเกินไปอาจทำให้รู้สึกแสบตา ระคายเคืองผิว แต่ถ้าหากเติมคลอรีนในปริมาณที่น้อยจนเกินไปก็จะไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคในสระว่ายน้ำได้
• สระว่ายน้ำระบบเกลือ
ในการดูแลรักษาสระว่ายน้ำระบบเกลือ จะต้องมีการตรวจเช็คเครื่องผลิตคลอรีนจากเกลือทุกๆ 3 เดือน และทำการเติมเกลือสระว่ายน้ำ และปริมาณในการเติมเกลือจะขึ้นอยู่กับเครื่องผลิตคลอรีนจากเกลือแต่ละแบรนด์ โดยที่ระดับเกลือมาตรฐานอยู่ระหว่าง 2700 – 3400 ppm โดยที่ 3200 ppm จะเป็นระดับที่ดีที่สุด หากว่าระดับเกลือต่ำ ก็ให้คำนวณหาน้ำในสระเป็นปริมาตร แล้วเติมเกลือตามตารางในคู่มือ ระดับเกลือต่ำจะลดประสิทธิภาพของเครื่อง ทำให้การผลิตคลอรีนต่ำลงไปด้วย ส่วนระดับเกลือที่สูงจะทำให้เครื่องหยุดทำงาน และอาจจะทำให้น้ำมีรสเค็ม
• สระว่ายน้ำระบบโอโซน ยูวี
เป็นอุปกรณ์เสริมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อโรคของสระว่ายน้ำระบบคลอรีน และสระว่ายน้ำระบบเกลือ ให้คุณภาพน้ำที่ใสสะอาดมากกว่าเดิม การดูแลรักษาสระว่ายน้ำระบบยูวี โอโซน เหมือนกับ สระว่ายน้ำระว่ายน้ำระบบเกลือ
ราคาในการดูแลสระว่ายน้ำ?
• ค่าใช้จ่ายในการดูแล สระว่ายน้ำ ประกอบด้วย ค่าสารเคมีทำความสะอาดสระ ค่าไฟฟ้า และค่าแรง หรือถ้าต้องการจ้างบริษัททำความสะอาด จะต้องมีการประเมินราคาจากผู้ให้บริการ
• ราคาของค่าบริการการดูแลสระจะขึ้นอยู่กับขนาดสระ ระยะทาง และความถี่ของการเข้าไปดูแล
• หากเป็นสระส่วนตัว โดยทั่วไป เราแนะนำให้มีการดูแลสระอาทิตย์ละ 1 ครั้ง
• อัตราค่าบริการดูแลสระว่ายน้ำรายเดือนสำหรับสระว่ายน้ำขนาด 30 คิว โดยเฉลี่ยแล้วจะมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 4,000 บาท ต่อเดือน
ขั้นตอนการดูแลสระว่ายน้ำขั้นพื้นฐานด้วยตนเอง ต้องทำอย่างไร? แบบละเอียด
• ทำความสะอาดภายในสระว่ายน้ำ
– ช้อนใบไม้และสิ่งสกปรกที่อยู่ในสระออกให้หมด
– ขัดกระเบื้อง พื้น ผนัง เกรตติ้ง โดยเฉพาะร่องยาแนวกระเบื้องจะต้องขาวสะอาด อย่างน้อยขัดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยแบ่งขัดเป็นช่วงๆ ในแต่ละวัน หากขัดพื้น ให้ไล่ความสกปรกลงที่ MAIN DRAINS
– ทำความสะอาดบันไดสระ, สไลด์เดอร์, กระดานกระโดด อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
– ถอดตะแกรงน้ำล้น (เกรตติ้ง) ออกมาล้างผงซักฟอก 6 เดือนครั้ง หรือเวลาที่สกปรกมา
• ดูดตะกอนและสิ่งสกปรกในสระว่ายน้ำ
– เปิดวาล์ว VACUUM ในห้องเครื่อง และปิดวาล์ว SUCTION (ก่อนเปิดวาล์ว VACUUM ทุกครั้ง จะต้องเปิดฝาปิด VACUUM ภายในสระก่อน)
– สวมสายดูดตะกอนเข้ากับหัวดูดตะกอน และด้ามอลูมิเนียมสวมเข้ากับหัวดูดตะกอนทิ้งลงในน้ำ จับสายดูดตะกอนกรอกน้ำจนเต็มสาย แล้วจึงเสียบเข้ากับหัว VACUUM ข้างสระ จากนั้นจึงเริ่มดูดตะกอน ในกรณีที่
VACUUM ไม่ดูด เนื่องจากมีลมอยู่ในท่อหรือในสายดูด ต้องทำการไล่ลมออกให้หมดก่อน โดยการกรอกน้ำให้เต็มสายดูดอีกครั้ง
– เมื่อดูดทำความสะอาดเสร็จเรียบร้อย ให้ปิดวาล์ว VACUUM ในห้องเครื่องก่อน หละงจากนั้นเอาฝาปิด VACUUM ในสระ และ เปิดวาล์วให้ระบบปั๊มและเครื่องกรองทำงานตามระบบปกติ
• การเติมเคมี หรือเกลือลงในสระว่ายน้ำ
– ตรวจเช็คค่า PH และค่าคลอรีนทุกครั้งก่อนการเติมเคมี
** อัตราส่วนการเติมคลอรีนผง 90% คือ 1 กรัม : น้ำ 1 คิว = 1 ppm **
– การเติมเคมี โดยการนำน้ำใส่ถังก่อน แล้วจึงนำเคมีผสมลงในน้ำ กวนให้เข้ากัน เทให้ทั่วสระ ส่วนที่ลึกให้เทมากกว่าส่วนอื่นๆ และเทให้ใกล้หัวจ่ายน้ำ เพื่อการกระจายเคมีให้ทั่วสระ
– ในการเติมเกลือลงสระครั้งแรก ใช้เกลือ 3 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1 คิว (ในการลงครั้งแรก)ส่วนครั้งต่อไป ใช้ 0.5 กก.ต่อน้ำ 1 คิว
– คลอรีนและโซดาแอช เติมพร้อมกันได้ ส่วนกรดเกลือต้องเติมห่างกันอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
ตัวช่วยการดูแลสระว่ายน้ำ
และสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อยในการดูแลสระว่ายน้ำ ขอแนะนำหุ่นยนต์ทำความสะอาดสระว่ายน้ำ ตัวช่วยที่จะทำให้การทำความสะอาดสระว่ายน้ำเป็นเรื่องง่าย อีกทั้งยังช่วยประหยัดเวลาและประหยัดน้ำ ลดภาระในการดูแลรักษาและค่าเคมีภัณฑ์ต่างๆ โดยเมื่อเปิดเครื่องแล้วนำลงสระ เครื่องจะดูดฝุ่นตะกอน กรองเศษขยะ เศษวัสดุแปลกปลอม เช่น กิ่งไม้ ใบไม้ พร้อมทั้งขัดพื้นผิวและผนังสระในคราวเดียว และเมื่อครบกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ เครื่องจะหยุดทำงานเองโดยอัตโนมัติ
ในท้องตลาดตอนนี้มีหุ่นยนต์ทำความสะอาดสระว่ายน้ำให้เลือกมากมาย เพื่อให้การทำงานของหุ่นยนต์ทำความสะอาดสระว่ายน้ำมีประสิทธิภาพ เราจึงควรเลือกหุ่นยนต์ทำความสะอาดสระว่ายน้ำให้เหมาะสมกับสระว่ายน้ำของเรา